You are currently viewing สาเหตุและแนวทางการรักษาการนอนไม่หลับ

สาเหตุและแนวทางการรักษาการนอนไม่หลับ

การนอนไม่หลับ

การนอนถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการนอนหลับที่เพียงพอและมีคุณภาพนั้นจะทำให้ร่างกายของเรา ได้มีการซ่อมแซมร่างกาย ฟื้นฟูพลังงาน ปรับสมดุลของร่างกายและจิตใจเพื่อให้มีความพร้อมในวันต่อไป  หากการนอนหลับมีปัญหา นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลทำให้เกิดปัญหาขาดประสิทธิภาพในการทำงาน  และทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกายเกิดขึ้น

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้มีผลต่อการนอนไม่หลับ

  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นมักพบปัญหาการนอนไม่หลับมากขึ้น เนื่องจากการเสื่อมสภาพของร่างกาย ระบบการควบคุมการนอนจะลดลง และประกอบกับมีโรคประจำตัว เช่น วัยผู้สูงอายุ มักจะเข้าห้องน้ำบ่อยตอนกลางคืน เนื่องระบบขับถ่ายปัสสาวะเริ่มมีความเสื่อม จึงทำให้รบกวนการนอนเกิดขึ้น
  • ความเครียด ความวิตกกังวล จากปัจจัยทางสังคม ปัญหาจากการทำงาน สภาพความเป็นอยู่ไม่ดี ปัญหาทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้
  • การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ทำให้ระบบการย่อยทำงานหนัก ทำให้นอนหลับไม่สบาย
  • การดื่มเครืองดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
  • การออกกำลังกายที่หนักมากเกินไป ก็มีผลให้นอนหลับได้ยาก
  • การสูบบุหรี่ ร่างกายตื่นตัวทำให้นอนหลับได้ยาก
  • สิ่งแวดล้อมของการนอนหลับ เช่น เสียงที่ดังมาก แสงสว่างภายในห้องนอน อุณหภูมิที่เย็นหรือร้อนเกิดไป ลักษณะที่นอนที่ไม่อำนวยต่อการนอน ก็ทำให้นอนไม่หลับได้

แนวทางการรักษาการนอนไม่หลับ

1 การรักษาโดยไม่ใช้ยา

  • จำกัดความรู้สึกที่ไม่ดีต่อเตียงนอน ให้เข้านอนเมื่อรู้สึกง่วงนอนเท่านั้น หลีกเลี่ยงการงีบหลับในเวลากลางวัน ใช้เตียงนอนสำหรับนอนเท่านั้นไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ บนเตียงนอน
  • การผ่อนคลาย ลดการกระตุ้นต่อร่างกาย และทางความคิดที่ไปรบกวนการนอน
  • งดการงีบหลับในเวลากลางวัน
  • ปรับพฤติกรรม การเข้านอนและการตื่นนอนในเวลาเดิม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอและเหมาะสม จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอน หลีกเลี่ยงการงีบหลับระหว่างวัน งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอนเป็นต้น
  • การบำบัดด้วยดนตรี (music therapy) ช่วยในการผ่อนคลาย ความเครียดลดลง

2 การรักษาโดยใช้ยา

  • กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน (benzodiazepine) ช่วยลดระยะก่อนการนอนหลับ เพิ่มระยะเวลาการนอนหลับ ไม่ควรใช้ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • กลุ่มยานอนหลับที่ไม่ใช่เบนโซไดอะซีปีน (non-benzodiazepine)
  • กลุ้มยาคลายเครียด (antidepressant) เนื่องจากไม่มีผลจำเพาะต่อการนอหลับ จึงก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ง่าย
  • กลุ่มยาที่หาซื้อได้ทั่วไป เช่น เมลาโทนิน ยาแก้แพ้ (antihistamine) ยาสมุนไพร

 

อ้างอิง : สุรชัย เกื้อศิริกุล. (2544). นอนไม่หลับ. กรุงเทพมหานคร: เรื่อนแก้วการพิมพ์.