You are currently viewing กินอยู่ยังไง ทำให้ไม่แก่ และยังสุขภาพดี

กินอยู่ยังไง ทำให้ไม่แก่ และยังสุขภาพดี

เคล็บลับการกินอยู่ ที่จะทำให้ชะลอวัย และสุขภาพดี

เนื้อหา

บริโภคผักผลไม้มากช่วยชะลอวัย(ไม่แก่)

ผู้บริโภคผักผลไม้มากนอกจากจะไม่แก่ แล้ว ยังมีปัญหาโรคที่กล่าวข้างต้นน้อยกว่าผู้ที่บริโภคเนื้อสัตว์และไขมันมาก ซึ่งนักวิจัยยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครเถียงได้ มีอะไรดีในผักผลไม้

  • ผักผลไม้ส่วนใหญ่ ยกเว้นมะพร้าว มะกอก และผลอะโวคาโด ไม่มีไขมัน ไม่มีคอลเลสเทอรอล และมีโซเดียมน้อย ยกเว้นของหมักดอง โซเดียมเป็นองค์ประกอบของเกลือ ถ้าบริโภคมากอาจเพิ่มความเสี่ยงความดันโลหิตสูงและโรคมะเร็ง
  • ผักผลไม้มีกากอาหารสูง ช่วยลดความเสี่ยงโรคที่มากับวัย เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ผักผลไม้ยังมีพลังงานต่ำทำให้อิ่มง่าย จึงลดปริมาณอาหารที่จะกินให้น้อยลง ร่างกายคนเราต้องการกากใยอาหารในการช่วยรักษาสุขภาพวันละ 25 – 30 กรัม ซึ่งทำได้ไม่ยาก ถ้าคุณเลือกบริโภคผักผลไม้วันละ 3 – 4 อย่าง อย่างละขนาดเท่าลูกเทนนิส และบริโภคผักสดขนาดเท่ากับ 4 ถ้วย (ข้าวต้ม) หรือผักสุก 4 ทัพพี หรือจะผสมกันอย่างละครึ่งก็ยิ่งดี
  • ผักผลไม้มีสารอาหารมากมายที่ช่วยชะลอความแก่ เช่น สารต้านยอนุมูลอิสระ ได้แก่ วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีนหรือแคโรทีนอยด์อนุมูลอิสระเป็นสารที่เร่งความเสื่อมของวัย สารอาหารดังกล่าวจะช่วยลดฤทธิ์ของอนุมูลอิสระ
  • ผักผลไม้อุดมไปด้วยแคลเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม กรดโฟลิก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ แคลเซียมและแมกนีเซียมช่วยป้องกันโรคกระดุกพรุนธาตุเหล็กและกรดโฟลิกช่วยในการสร้างเม็ดเลือด ป้องกันโลหิตจาง นอกจากนี้กรดโฟลิกยังช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจและป้องกันโรคสมองเสื่อม
  • ผักและผลไม้ให้พลังงานต่ำ โดยเฉพาะผัก ผักสลัดหนึ่งชามพูนให้พลังงานเพียง 30 กิโลแคลอรี แต่ต้องระวังน้ำสลัดซึ่งให้พลังงานสูง น้ำสลัดข้นเพียง 1 ช้อนโต๊ะให้พลังงาน 75-100 กิโลแคลอรี
  • ผักผลไม้มีสารต้านมะเร็งเฉพาะตัวที่เรียกว่า สารพฤกษเคมี (phytochemical) ผักผลไม้ต่างชนิดกันก็มีสารพฤษเคมีแตกต่างกันไปหลายพันชนิด การบริโภค การบริโภคผักและผลไม้หลากหลายจะช่วยให้ได้สารพฤกษเคมีที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ

ชะลอวัยความแก่ ด้วยเอนไซม์

แอนติออกซิเดนท์ช่วยชะลอวัย

กระบวนการทำงานในร่างกายคนเราจะทำให้เกิดผลพวงที่ไม่พึงประสงค์ที่คอยทำลายเซลล์หรือเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอในร่างกาย มีผลทำให้แก่เร็วและโรคที่มากับความแก่มาเยือนเร็วขึ้น อาหารที่มีสารแอนติออกซิแดนท์สูงจะช่วยป้องกันโรคเหล่านี้และชะลอความแก่ที่จะมาเยือน จึงทำให้คนที่ดูแลสุขภาพเสมอๆ นั้นมักจะดูอ่อนวัย

นอกจากนี้สารแอนติออกซิแดนท์ยังช่วยในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันอนุมูลอิสระทำลายระบบประสาท ซึ่งมีผลทำให้ความจำเสื่อมเร็วขึ้น

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา สารแอนติออกซิแดนท์เช่นวิตามินซีและอีช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในผู้ชาย โดยการลดระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก ข้อแนะนำสำหรับการรับประทานวิตามินซีคือ วันละ 75-90 มิลลิกรัม ในผู้ที่เสริมวิตามินซีสามารถเสริมได้อย่างปลอดภัยถึงวันละ 1,000 มิลลิกรัม

 

อาหารที่เป็นแหล่งวิตามินซี

ได้แก่ ส้มต่างๆ ผลไม้ประเภทแตง ฝรั่ง แคนตาลูป พริกหวาน ผักใบเขียว มะเขือเทศ กะหล่ำปลี

อาหารที่เป็นแหล่งวิตามินอี

ได้แก่ เมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันปาล์มโอเลอิน น้ำมันดอกคำฝอย เลมอนด์ วีทเจิร์ม เนยถั่ว ถั่วลิสง

เพิ่มไขมันปลา ลดไขมันสัตว์บก

ปลามีไขมันที่ดีคือน้ำมันปลาหรือกรดโอเมก้า 3 โดยเฉพาะปลาทะเล กรดโอเมก้า 3 ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคหัวใจ และลดอาการซึมเศร้าช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งตับอ่อน

ควบคุมอาหาร

ควบคุมปริมาณอาหารที่บริโภค

ลดอาหารที่ให้พลังงานฟุ่มเฟือย ได้แก่ ขนมหวาน ของคบเคี้ยวยามว่างซึ่งมีน้ำตาลสูง เพราะไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับร่างกาย ข้อมูลการวิจัยพบว่าสัตว์ที่ได้รับอาหารน้อยลงมีอายุยืนขึ้น 2 – 4 เท่า ภูมิคุ้มกันสูงขึ้น และโรคที่มากับวัยลดลง ในคนก็มีรายงานเช่นเดียวกัน

การเสริมวิตามินจำเป็นหรือไม่

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น สมรรถภาพการดูดซึมและนำสารอาหารไปใช้จะลดลง ทำให้ร่างกายเราต้องการสารอาหารเพิ่มขึ้น เช่น วิตามินดี ซึ่งช่วยป้องันโรคกระดูกพรุน ผิวหนังคนเราสามารถผลิตวิตามินดีได้จากแสงแดดแม้คนไทยเราจะได้รับแสงแดดอย่างเหลือเฟือ แต่ความสามารถในการผลิตลดลงตามอายุ จนเมื่ออายุถึง 70 ปี ผิวหนังผลิตวิตามินดีได้เพียง 40 เปอร์เซ็นต์ ของคนอายุ 8 ขวบ ความต้องการวิตามินดีในวัย 20 – 30 ปีขึ้นไปประมาณวันละ 200 ไอยู ในคนที่มีอายุมากกว่านั้นร่างกายต้องการวิตามินดีวันละ 400 – 600 ไอยูแต่อายุเป็นสิ่งที่หยุดยั้งไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญจึงมีความเห็นว่าเราควรค่อยๆ เพิ่มปริมาณการบริโภควิตามินดี เพื่อที่ว่าเมื่อเราอายุถึง 60 ปีเมื่อไรก็ควรจะได้รับวิตามินดีประมาณวันละ 600 ไอยู อาหารที่มีวิตามินดีสูง ได้แก่ นม ไข่ เนยเทียม เนยแข็ง ปลาแซลมอน และปลาซาร์ดีน (ทั้งกระดูก)

  • ความต้องการวิตามินบีเพิ่มขึ้นตามอายุ วิตามินบีสามชนิดที่ร่างกายต้องการ ได้แก่ กรดโฟลิก วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 วิตามินเหล่านี้จำเป็นต่อการรักษาระดับสารโฮโมซีสอีนในเลือด ถ้าระดับสารชนิดนี้สูงขึ้น ก็จะเร่งให้เกิดโรคหัวใจและความจำเสื่อมเร็วขึ้นเช่นกัน อาหารที่มีวิตามินบี 12 สูงพบมากในเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ปลา สัตว์ปีก ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนมอาหารที่มีวิตามินบีสูง ได้แก่ ไก่ ปลา หมู ถั่วเหลือง
  • อาหารที่มีกรดโฟลิกสูง ได้แก่ ผักใบเขียว น้ำส้มคั้น อะโวคาโด ตับ บรอกโคลี ธัญพืชเสริมกรดโฟลิก หัวบีท บริวเออร์ยีส จมูกข้าวสาลี
  • ความต้องการแคลเซียมสูงในวัยสูงอายุเพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนในวัยกลางคนต้องการแคลเซียมวันละ 1000 มิลลิกรัม วัย 50 ปีขึ้นไปต้องการวันละ 1200 มิลลิกรัม หากบริโภคอาหารไม่เพียงพอ การเสริมสารอาหารดังกล่าวก็จะช่วยชะลอโรคที่มากับวัย

หลีกเลี่ยงอาหารเร่งแก่!

อาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว (ไขมันจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ ซ็อกโกแลต กะทิ) การบริโภคอาหารทอดกรอบ อาหารผัดที่มันมาก และน้ำมันพืชซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง (polyunsatu rated fatty acid) ในปริมาณมากๆ มีผลในการเพิ่มอนุมูลอิสระให้กับร่างกาย

เครื่องดื่มประเภทที่มีแอลกอฮอล์ แอลกอฮอล์สามารถเปลี่ยนเป็นไขมันได้ และยังลดการดูดซึมของเกลือแร่และวิตามินในร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียม วิตามินบี และวิตามินซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เร่งความแก่ให้มาเยือนก่อนเวลาอันควร

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ ชา กาแฟ จะลดการดูดซึมวิตามินบีและแคลเซียมในร่างกาย

อาหารหมักดองและอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษ เช่น สารตะกั่วและเชื้อแบคทีเรียในอาหารที่ขายตามริมถนนและไม่มีภาชนะปิด เป็นบ่อเกิดของอนุมูลอิสระ บั่นทอนสุขภาพและก่อให้เกิดโรคมะเร็ง อาหารปิ้งย่างที่มีเขม่าไฟติดหรือเกรียมไหม้ มีสารก่อให้เกิดมะเร็งที่มีชื่อว่า เบนโวไพรีน (benzopyrene)

อาหารทอดจากน้ำมันซ้ำซาก น้ำมันที่ทอดอาหารซ้ำแล้วซ้ำอีกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี ทำให้เกิดอนุมูลอิสระและสารก่อมะเร็ง

สรุป

  • จำกัดอาหารประเภทไขมันและน้ำตาล
  • บริโภคข้าวซ้อมมือเป็นประจำ
  • เลือกผลิตภัณฑ์ข้าวที่ผ่านกระบวนการขัดสีน้อยสุด
  • บริโภคผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา และดื่มนมขาดไขมัน หรือพร่องไขมันเป็นประจำ
  • ระวังปริมาณในการบริโภค อย่าเพลินกับความอร่อยจนลืมตัว
  • เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหารหมักดอง และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • เสริมวิตามินรวมวันละ 1 เม็ด 

นอกจากเรื่องการกินแล้ว สิ่งที่สำคัญควบคู่กันไปก็คือ ไม่ลืมที่จะออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส ลดละความเครียดนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพียงเท่านี้คุณก็จะดูอ่อนกว่าวัยเสมอ

Facebook
Twitter

แสดงความคิดเห็น