ปัญหาลดน้ำหนักเป็นปัญหาเรื้อรัง คนอ้วนมักจะประสบอยู่เสมอๆ เพราะการลดน้ำหนักที่ถูกต้องและปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ทันใจผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ยิ่งลดได้เร็วและมากเท่าไรยิ่งดี โดยไม่สนใจว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรขอให้ลดได้เสียก่อน เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง
ฉะนั้นผู้ที่ลดน้ำหนักทั้งหลายก็จะให้ความสนใจกับวิธีการลดน้ำหนักที่เร็วๆยิ่งไม่ต้องจำกัดอาหารและไม่ต้องออกกำลังกายได้ยิ่งดี แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีวิธีอะไรหรืออาหารมหัศจรรย์ที่จะทำให้ลดน้ำหนักได้อย่างที่ต้องการหวังได้
ล่าสุดอาหารลดน้ำหนักที่ฮือฮาหลายปีคืออาหารโปรตีนสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ ที่ทำให้ผู้เขียนหนังสือเรื่องนี้ร่ำรวยไปหลายคน แต่ละปีขายเป็นล้านๆ เล่ม เพราะเมื่อปฏิบัติตามแล้วลดน้ำหนักได้เร็วและมากทันใจดี แต่ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ หลังจากลดไปแล้วไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำหนักที่ลดกลับคืนมาอีก จึงมักจะอ้วนเหมือนเดิมหรือมากกว่าเก่าเมื่อเลิกปฏิบัติตามคัมภีร์ลดน้ำหนักประเภทนี้
เนื้อหา
ลักษณะของอาหารโปรตีนสูงแต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ
อาหารประเภทนี้มีเจ้าของตำรับหลายท่าน เช่น อาหารของนายแพทย์โรเบิร์ต แอทกิ้นส์ (Atkins diet) “The New Atkins Diet” “Enter the Zone” โดยแบร์รี่เซียร์ ล่าสุดที่ค่อยข้างจะดังไม่แพ้ของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet)คือ “South Beach Diet” ของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet)อากัตสตัน
อาหารลดน้ำหนักประเภทนี้จะเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงมาก คาร์โบไฮเดรตต่ำ ฉะนั้นอาหารที่อนุญาตคือบรรดาเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมทั้งไข่ อาหารที่ต้องจำกัดมากๆ คือ ข้าว แป้ง น้ำตาล ผัก ผลไม้ และนม ส่วนปริมาณไขมันนั้นก็แล้วแต่เจ้าของตำรับ ของคุณหมอแอทกิ้นส์ (Atkins diet) ให้รับประทานเนื้อสัตว์และไขมันไม่อั้น ส่วน “Enter the Zone” นั้นจะแบ่งปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เป็น 40:30:30 เพื่อควบคุมระดับอินซูลินในร่างกาย โดยใช้หลักของดัชนีน้ำตาลในอาหารช่วยในการเลือกอาหาร ในบรรดาอาหารลดน้ำหนักเหล่านี้ดูเหมือน “Enter the Zone” และ “Sount Beach Diet” จะได้รับคำวิจารณ์จากนักวิชาการน้อยกว่าสูตรอาหารอื่นๆ ที่กล่าวมา
หลักเกณฑ์การทำงาน
ปกติร่างกายคนเราจะเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตเป็นกลูโคสเพื่อใช้เป็นพลังงานในชีวิตประจำวันวัน รวมทั้งพลังงานสำหรับสมอง หัวใจ และอวัยวะต่างๆ การจำกัดคาร์โบไฮเดรตทำให้ร่างกายมีกลูโคสที่จะเผาผลาญเป็นพลังงานน้อยลง ร่างกายจึงต้องสลายกล้ามเนื้อและไขมันมาใช้เป็นพลังงาน การสลายไขมันทำให้กรดไขมันในกระแสเลือดสูงขึ้นและมีการสร้างสารคีโตนออกมามาก สารคีโตนที่คั่งในเลือดจะยับยั้งความอยากอาหาร จึงทำให้กินอาหารน้อยลง ฉะนั้นน้ำหนักก็ต้องลดลงได้แน่นอน แต่การเกิดสารคีโตนมากๆ ก็จะทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ ปวดศรีษะ ลมหายใจมีกลิ่นคล้ายน้ำยาล้างเล็บผสมกลิ่นสับปะรดที่สุกงอม
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านลดน้ำหนักต่างก็ออกมาคัดค้านวิธีของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ว่าเป็นวิธีที่ไม่ปลอดภัย และสวนทางกับวิธีการลดน้ำหนักตามแบบฉบับดั้งเดิมที่ได้พร่ำสอนกันมาเป็นเวลานานกว่า วิธีการลดน้ำหนักที่ปลอดภัยต้องค่อยๆ ลดช้าๆ สัปดาห์ละ ½ – 1 กิโลกรัม โดยใช้อาหารคาร์โบไฮเดรตสูงไขมันต่ำจะได้ไม่มีปัญหาอื่นตามมาจากการลดเร็วเกินไป อาหารของแอทกิ้นส์ (Atkins diet) ถูกโจมตีว่าไม่ปลอดภัย และอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพด้วยเหตุผลต่อปีนี้
7 ข้อเสีย ของอาหารลดน้ำหนัก
1. เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
เนื่องจากอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำจะมีใยอาหารต่ำไปด้วย อาหารมีโปรตีนสูงโดยเฉพาะโปรตีนจากสัตว์จะมีคอลเลสเทอรอลและกรดไขมันอิ่มตัวสูงขึ้นตาม ซึ่งมีผลต่อการเพิ่มระดับคอลเลสเทอรอล โดยเฉพาะแอลดีแอลคอลเลสเทอรอลเร่งการเกิดโรคหัวใจ ในทางตรงกันข้าม อาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยอาหารสูงจะช่วยลดคอลเลสเทอรอล การบริโภคเนื้อสัตว์มากยังทำให้ระดับโฮโมซีสเตอีนและธาตุเหล็กสะสมในร่างกายมากขึ้น ซึ่งมีหลักฐานสนับสนุนว่าสารทั้งสองชนิดนั้นเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ
2. เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง
อาหารที่มีผัก ผลไม้ ถั่ว และเมล็ดธัญพืชมีกากใยอาหารสารต้านมะเร็ง วิตามิน และธาตุมากมาย รวมทั้งสารพฤกษเคมีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง อีกทั้งยังมีไขมันต่ำ ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง และยังลดปัญหาท้องผูกและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง
3. ความดันโลหิตสูงขึ้นตามอายุ
อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำๆ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความดันโลหิตตามอายุเหตุผลส่วนหนึ่งคือ อาหารคาร์โบไฮเดรตที่มีใยอาหารสูงประกอบไปด้วย ผัก ผลไม้ ธัญพืช และนมขาดไขมัน ซึ่งเป็นอาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงเนื่องจากมีโพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียมสูง ส่วนอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำนอกจากจะขาดสิ่งเหล่านี้แล้ว ยังมักไม่จำกัดปริมาณเกลือทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
4. เพิ่มความเสี่ยงโรคเกาต์
อาหารที่มีโปรตีนสูงมักมีพิวรีนสูง ซึ่งจะถูกสลายเป็นกรดยูลิกในร่างกาย เนื้อสัตว์ ถั่ว เมล็ดพืช และอาหารทะเล มีสารพิวรีนค่อนข้างสูง หากร่างกายมีกรดยูริก
สูง ก็จะทำให้กรดยูริกเกิดการตกตะกอนตามข้อ ทำให้เกิดโรคเกาต์ได้
5. นิ่วในไต
อาหารโปรตีนที่ทำให้เกิดคีโตนสะสมในเลือดมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการตกตะกอนของกรดยูริกและแคลเซียมออกซาเลต จึงทำให้เกิดนิ่วในไตได้มากกว่าอาหารคาร์โบไฮเดรตสูงที่ประกอบไปด้วยผักผลไม้จำนวนมาก
6. โรคกระดูกพรุน
การบริโภคอาหารโปรตีนสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโปรตีนสัตว์ มีผลให้ร่างกายสูญเสียแคลเซียมในปัสสาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาโรคกระดูกพรุน
7. หมดสติ เป็นลม
เมื่อร่างกายขาดคาร์โบไฮเดรต น้ำหนักที่ลดเร็วจนเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็วเมื่อเปลี่ยนอิริยาบทจากการนอนเป็นลุกขึ้นนั่ง เนื่องจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากร่างกาย และการทำงานในระบบประสาทลดลง ส่งผลให้เกิดอาการวิงเวียนหรือเป็นลมเมื่อลุกยืนเร็วไป
แม้อาหารของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) จะถูกโจมตี แต่ก็ไม่ทำให้ยอดขายหนังสือของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ตกลงไป สื่อต่างๆ ก็กล่าวขวัญว่าเป็นวิธีลดที่เร็วทันใจดี แต่ผู้คนเป็นจำนวนมากซื้อหนังสือของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ไปปฏิบัติส่วนใหญ่ต่างก็ลดน้ำหนักได้กัน เพียงแค่เริ่มต้นไม่ถึงเดือนลดได้ 5 – 10 กิโลกรัม บรรดานักวิชาการต่างก็ร้อนใจ เพราะจะถูกถามอยู่เสมว่าสูตรลดน้ำหนักของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ดีจริงหรือในที่สุดบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านลดน้ำหนักจากหลายๆ สถาบันในสหรัฐอเมริการวมทั้งสมาคมนักกำหนดอาหารของสหรัฐอเมริกา ต้องพากันทำวิจัยทดสอบสูตรของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ว่าดีจริงสมคำเล่าลือไหม
การวิจัยจาก Duke University School of Medicine และจากมหาวิทยาลัยซินเนติ ศึกษาในคนอ้วนเพื่อเปรียบเทียบการลดน้ำหนักด้วยอาหารของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) และอาหารไขมันต่ำเป็นเวลา 6 เดือน ระหว่างนี้ได้รับการเสริมมัลติวิตามินและน้ำมันปลา เปรียบเทียบกับอาสาสมัครที่ลดน้ำหนักโดยวิธีดั้งเดิม คืออาหารไขมันต่ำ ปรากฏว่าวิธีของแอทกิ้นส์ (Atkins diet) ลดน้ำหนักได้มากกว่าประมาณสองเท่าของอาหารไขมันต่ำ และกลุ่มที่ลดด้วยวิธีของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ยังมีพฤติกรรมที่เกาะติดกับการควบคุมได้ดีกว่าด้วย ยิ่งไปกว่านั้นอาหาร แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้มากกว่าอาหารไขมันต่ำประมาณเท่าตัว ที่สำคัญคือระดับเอชดีแอล (คอลเลสเทอรอลที่ดี) เพิ่มขึ้นในขณะที่อาหารไขมันต่ำไม่เพิ่มเอชดีแอล ผลการวิจัยนี้เพิ่มเครดิตให้กับ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ไม่น้อย แต่นักวิจัยท่านอื่นๆ ก็ออกมาให้ความคิดเห็นว่าเวลาที่น้ำหนักลดลงไป ไตรกลีเซอไรด์ก็จะลดอยู่แล้ว และการเสริมน้ำมันปลามีผลในการลดไตรกลีเซอไรด์ด้วย จึงยังไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้มั่นใจว่าวิธีการลดน้ำหนักของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ปลอดภัย
การวิจัยของ ดร. แกรี่ ฟอสเตอร์ ผู้อำนวยการ Weight and Eating Disorders Program แห่งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยเพนซิเวเนีย ใช้อาสาสมัครที่เป็นโรคอ้วนทั้งชายและหญิง 63 คน ครึ่งหนึ่งให้ใช้วิธีสุ่มเลือกให้ลดด้วยวิธีของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) โดยแจกหนังสือของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ให้ไปทำตามอีกครั้งหนึ่งให้ลดโดยใช้อาหารไขมันต่ำ โดยที่ทั้งสองกลุ่มไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกำหนดอาหารสักเท่าไร ผลการวิจัยหลังจาก 12 เดือนพบว่าทั้งสองกลุ่มลดน้ำหนักได้ต่างกันเล็กน้อย แต่คนที่ใช้วิธีของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) จะเกาะติดกับการควบคุมนานกว่า มีผู้ที่หยุดกลางคันประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่กลุ่มอาหารไขมันต่ำหยุดกลางคัน 30 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อดูผลระยะยาวแล้ว น้ำหนักที่ลดได้ใกล้เคียงกัน
คำถามจากผลการวิจัยก็คือ ตับและไตจะปลอดภัยไหมถ้าใช้วิธีของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ไปนานๆ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่า อาหารโปรตีนสูงจะทำให้กระดูกบางลง ดร. ฟอสเตอร์แนะนำว่า ถ้าจะให้ชัดเจน ควรจะมีการตรวจการทำงานของไต ตับ และเนื้อกระดูก ซึ่งเขากำลังวิจัยอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังเตือนว่า ที่สำคัญคือนักวิชาการไม่ควรด่วนสรุปและเปลี่ยนข้อแนะนำให้ใช้วิธีของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ในการลดน้ำหนัก เพีบงเพราะผลงานวิจัยที่ออกมาไม่กี่ชิ้น
การพิสูจน์ผลงานของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ยังมีออกมาเรื่อยๆ เมื่อปีที่แล้วมีงานตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine ฉบับเดือนพฤษภาคม 2003 โดยทีมงานของนายแพทย์เฟรเดริก เอฟ. ซามาฮา แห่ง Philadelphia Va Medical Center และแพทย์หญิงลินดา สเทิร์น แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิเวเนียซึ่งศึกษาในหญิงและชายที่อ้วนรุนแรง และพบว่ากลุ่มอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำโดยรวมลดน้ำหนักได้มากกว่า บางคนลดได้มากกว่า 50 ปอนด์ (ประมาณ 22.7 กิโลกรัม)
แต่นักวิจัยทั้งสองท่านยังไม่ได้วิจัยถึงผลระยะยาว เพราะการใช้อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำในระยะสั้นอาจช่วยให้ระดับไขมันดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวานในผู้ที่ยังไม่เป็นเบาหวาน และอาจเป็นประโยชน์สำหรับคนอ้วนที่ลดน้ำหนักยาก แต่ก็ยังไม่สามารถพูดได้แน่ชัดในการที่จะแนะนำประชาชนที่เป็นโรคอ้วนทั้งหลายให้หันมาลดน้ำหนักด้วยวิธีของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ซึ่งขณะนี้เสียชีวิตไปแล้ว โดยที่มีข่าวออกมาว่าเสียชีวิตเพราะหกล้มหัวฟาดพื้น
คุณหมอซามาฮาและคุณหมอสเทิร์นให้ความเห็นว่า บรรดาคนอ้วนทั้งหลายอ้วนจากการบริโภคอาหารมากเกินไปโดนเฉพาะคาร์โบไฮเดรตและไขมัน อาหารลดน้ำหนักควรจะเป็นแบบฉบับที่ปรับปรุงให้เหมาะสมเฉพาะตัวโดยการลดแคลอรีส่วนเกินที่มาจากอาหารทั้งสองประเภท
ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีอาหารลดน้ำหนักของคุณหมอในต่างประเทศออกมาเป็นคู่แข่งของ แอทกิ้นส์ (Atkins diet) โดยออกแบบให้มีความหลากหลายมากขึ้น และให้มีไขมันต่ำเพื่อลดข้อเสียที่อาหารสูตร แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ถูกโจมตี
สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญสรุปตอนนี้คือ ในระยะยาวอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำไม่ได้ทำให้ลดน้ำหนักได้มากกว่าอาหารชนิดอื่น แต่การลดพลังงานจากอาหารไม่ว่าจะเป็นอาหารชนิดใดๆ ก็ตาม นั่นก็คือบริโภคลดลงจากที่เคย จะมีผลให้ลดน้ำหนักได้แน่ๆ เพียงแต่ถ้าดูระยะสั้นวิธีของ ดร. แอทคอนส์จะมีภาษีดีกว่าเพราะปริมาณน้ำหนักที่ลดลงนั้นมากกว่าและเร็วกว่า แต่ถ้าดูระยะยาวที่หนึ่งปีไม่มีความแตกต่างกันมากนัก นอกจากนี้การจำกัดหมวดอาหารจนขาดความหลากหลายทำให้ผู้ปฏิบัติเบื่อและมีความอยากอาหารเหล่านั้นมากขึ้นเคยมีรายงานการวิจัยพบว่า อาหารโปรตีนสูงมีแนวโน้มทำให้ผู้ปฏิบัติบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงในเวลาต่อมาของวัน
ผลจากการวิจัยเปิดเผยว่า ผู้ที่ลดน้ำหนักได้มากและสามารถป้องกันน้ำหนักกลับคืนระยะยาว ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่บริโภคอาหารไขมันต่ำและกากใยอาหารสูง ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสูตรที่ทราบกันดีแก่ใจอยู่แล้ว
ใครสมัครใจจะใช้สูตรของใครก็ได้ผลทั้งนั้นในระยะแรก แต่ส่วนใหญ่จะตกม้าตายก็ตอนช่วงที่ต้องพยายามคงน้ำหนักไว้ เพราะจะต้องเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งการกินและการออกกำลังกาย ซึ่งจะต้องทำอย่างเสมอต้นเสมอปราย แต่มักจะละเลยกัน เรื่องนี้อาจยากสำหรับบางคน แต่ถ้ใครทำได้ โอกาสที่จะมีหุ่นงามในระยะยาวก็เป็นไปได้ แนะนำว่าจะใช้วิธีไหนควรปรึกษานักกำหนดอาหารเป็นระยะ จะได้ไม่เสียเวลานั่งนับหนึ่งใหม่กันใหม่เวลาที่เผลอตัวแล้วน้ำหนักเด้งคืน
สรุป
ขอเตือนว่านักกีฬาไม่ควรใช้อาหาร แอทกิ้นส์ (Atkins diet) ลดน้ำหนัก เพราะจะลดสมรรถภาพนักกีฬาทำให้พลาดเหรียญทองได้ และคนที่มีโรคตับ โรคไต ซึ่งต้องจำกัด
อาหารโปรตีน ห้ามใช้วิธีนี้เด็ดขาด อันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ
แสดงความคิดเห็น